การใช้ยาอะโปมอร์ฟีนแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (apomorphine subcutaneous injection)
ยา apomorphine เป็นยารักษาโรคพาร์กินสันในกลุ่มเสริมการทำงานของตัวรับโดปามีน (dopamine agonist) ที่ได้รับการสังเคราะห์มาจากสารเสพติดมอร์ฟีนโดยที่ยาไม่มีฤทธิ์เสพติดแล้ว และยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของตัวรับโดปามีนที่ใช้ รักษาอาการของโรคพาร์กินสันที่ให้ผลในการรักษาได้ดีใกล้เคียงกับยาลีโวโดปา อย่างไรก็ตามยาชนิดนี้ไม่สามารถใช้ในรูปแบบยารับประทานได้ เนื่องจากยาจะถูกทำลายที่ตับ ดังนั้นการบริหารยาจึงจำเป็นต้องให้ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังเป็นหลัก และมีผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อย คือ อาการคลื่นไส้อาเจียน ในปัจจุบันยานี้จึงถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยอาการยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด (wearing off) เป็นหลัก
ขนาด รูปแบบ และวิธีการบริหารยา
Apomorphine เป็นยาน้ำ ลักษณะใส ใช้สำหรับฉีด เข้าชั้นไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) โดยบริเวณที่สามารถฉีดยาได้ เช่น หน้าท้อง ต้นขา หรือ ต้นแขน การบริหารยาจะมี 2 ชนิด โดยการเลือกวิธีการบริหารยา และระยะเวลาในการใช้ยาในแต่ละวันจะเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างแพทย์ และผู้ป่วยโดยพิจารณาจากอาการ และอาการแสดงของผู้ป่วยเป็นหลัก นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาใช้ยากลุ่มอื่นๆ ร่วมในการรักษาโรคพาร์กินสัน
1. ชนิดฉีดต่อเนื่อง (continuous infusion pump)
2. ชนิดปากกา (intermittent injection pen)
ผลข้างเคียงของยา apomorphine ที่พบได้
1. การอักเสบใต้ผิวหนังในบริเวณที่มีการแทงเข็มฉีดยา
2. อาการความดันตกเมื่อเปลี่ยนท่าทาง หรืออาการมึนศีรษะวิงเวียนเมื่อผู้ป่วยลุกเปลี่ยนท่า
3. อาการง่วง
4. อาการสับสน เห็นภาพหลอน
5. อาการยุกยิกมากขึ้น
6. การแตกตัวของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ
ภาพที่ 1 ภาพแสดงการบริหารยา apomorphine เข้าใต้ผิวหนังอย่างต่อเนื่องโดยผ่านเครื่องปล่อยยาต่อเนื่องที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า (infusion pump) และ อุปกรณ์การฉีดยาเข้าชั้นไขมันใต้ผิวหนังแบบให้เป็นครั้งคราว (injection pen)